รีวิวหนัง:คนโขน อีกหนึ่งหนังไทยที่สมควรภูมิใจ

 


หลังจากเพิ่งชมโคแนนไปหมาดๆ ข้ามมาอีกวันก็ได้กลับไปเซ็นทรัลเวิลด์อีกครั้งกับ การเข้าชมหนังไทยที่ถูกจับตาว่าจะเป็นที่กล่าวขวัญและน่าจะเป็นที่ชื่นชมของทั้งคนในและนอกวงการภาพยนต์ไทยไม่แพ้ “โหมโรง” หนังไทยที่ปลุกกระแสอนุรักษ์ดนตรีไทยให้กลับมาได้พักใหญ่ รีวิวหนังไทย 

มาถึง “คนโขน” งานกำกับที่2 จากพระเอกรุ่นใหญ่อีกคนของวงการอย่าง คุณ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ที่ครั้งนี้หันมาจับเรื่องที่ดูจะทำยาก อย่างงานศิลปแขนงนาฎศิลป์ไทยอย่าง “โขน”  ที่ได้ฟังครั้งแรกผมยังมองภาพไม่ออกด้วยซ้ำว่าเมื่อมาเป็นภาพยนต์ ผู้กำกับจะทำให้มันสนุกได้อย่างไร เด็กรุ่นใหม่ๆจะดูกันไหม หรือจะเป็นเพียงอีกหนึ่งความพยายามอีกครั้งที่จะปลุกกระแสอนุรักษ์งานนาฎศิลป์ไทย อย่าง “โขน” ของไทยที่กำลังเริ่มจำกัดวงให้คนทั่วไปได้สัมผัสยากขึ้นทุกที และ…วันนี้ผมก็ได้พิสูจน์ด้วยตาของตัวเองแล้ว

ใครยังไม่ได้ชมแนะนำอย่าคลิกต่อนะครับ เพราะเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนแน่นอน อ่านรีวิวต่อ “คนโขน” ที่นี้

เรื่องย่อ คนโขน

เรื่องของคนโขนนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2508 โดยเล่าเรื่องราวของ ชาด (อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ) เด็กกำพร้าที่ถูกครูโขนฝีมือดีอย่าง ครูหยด (สรพงษ์ ชาตรี) เลี้ยง ดูและฝึกหัดโขนให้ตั้งแต่เล็ก ๆ จนกระทั่งเติบใหญ่มีฝีไม้ลายมือเก่งกาจกลายเป็นศิษย์เอกในคณะโขนของครูหยด อีกทั้งชาดยังได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจที่ดีเสมอมาจากเพื่อนรักอย่าง ตือ (กองทุน พงษ์พัฒนะ) และ แรม (นันทรัตน์ ชาวราษฎร์) ที่สนิทสนมรักใคร่ผูกพันกันมาตั้งแต่วัยเด็ก

ด้านครูหยดก็ได้มองเห็นแววที่จะเอาดีทางด้านนี้ของชาด และคิดจะเปิดตัวชาดในบทพระรามเป็นครั้งแรกในงานแสดงโขนประจำปีครั้งใหญ่ที่ วัดอ่างทอง

เส้นทางชีวิตของชาดดูเหมือนจะไร้ซึ่งอุปสรรคในการก้าวตามความฝัน เพื่อมุ่งสู่จุดสูงสุดของชีวิตนักแสดงโขนตามความทะยานอยากในวัยหนุ่มของเขา 

แต่เมื่อ ครูเสก (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) อดีตเพื่อนรักของครูหยด ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นศัตรูตัวฉกาจด้วยปมแค้นฝังลึก ได้รับรู้เรื่องการแสดงของคณะครูหยด จึงหาวิธีกลั่นแกล้งไม่ให้ครูหยดได้แสดงโขนที่วัดนี้ ซึ่งก็เข้าทางหลานชายสายเลือดโขนของครูเสกอย่าง คม (ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) คู่อริเก่าของชาดที่ต้องการแก้แค้นและเอาคืนชาดอย่างสาสมเช่นกัน


บางครั้งเราก็ต้องพบกับฝันร้ายโดยไม่รู้ตัว…

เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อปัญหาที่ถาโถมเข้ามาหาครูหยดและชาดนั้นไม่ใช่แค่มายาแห่งนาฏกรรมโขนอัน เกิดมาจากความอาฆาตแค้นไม่สิ้นสุดของครูเสกและคมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ชาดยังหลงเข้าไปในวังวนแห่งตัณหาราคะที่ก่อเกิดจาก รำไพ (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) เมีย รุ่นลูกของครูหยดที่จ้องจะเข้าหาชาดทุกครั้งที่มีโอกาส รวมทั้งมิตรภาพระหว่างเพื่อนรักอย่างชาด, แรม และตือที่ถูกสั่นคลอนลงอย่างไม่คาดฝัน นั่นเป็นเหตุให้ชีวิตของชาดซวนเซและพลิกผันไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

ฉาก สุดท้ายของชาดจะสามารถกลับลำและไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ ถึงเวลาที่ชาดจะต้องต่อสู้เอาชนะด้านมืดของตัวเอง และพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ หาใช่หัวโขนที่สวมใส่

หลังจากได้มีโอกาสชม clip trailer คนโขน ที่ถูกปล่อยออกมา  ทำให้ผมอยากดูและเฝ้ารอที่จะชมโดยยอมรับตามตรงว่ามี “โหมโรง” เป็นบรรทัดฐานสำคัญในการตั้งตารอครับ

และเมื่อได้ชมก็ไม่ไ่้ด้ผิดคาดอย่างที่คิด

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงในการชม “คนโขน” หนังมีครบทุกรสชาติ  รัก โลภ โกรธ หลง องค์ประกอปกิเลสพื้นฐานมนุษย์เดินดินอย่างเราๆท่าน และตัวหนังก็ครบรสเช่นกัน หนังเปิดเรื่องด้วยการให้ตัวละครหนึ่งในหนังเป็นคนนำเรื่อง มาบอกเล่าย้อนอดีตให้กลับไป ปี 2508 โดยมีภาพ ย้อนกลับไปกลับมากับคนเล่าเรื่อง โดยเรื่องราวของหนังทั้งหมดก็คือมาจากคำบอกเล่าของ เธอเอง ระหว่างดู บางช่วงผมรู้สึกแปลกๆกับ ตัวละครนี้เหมือนกันครับ  มีหลายครั้งที่การเล่าเรื่องของเธอ ทำให้ตัวหนังแปร่งๆออกไปบ้างจากน้ำเสียงหรือจังหวะการตัดต่อเหมือนไม่เนียนเป็นเนื้อเดียวกันกับเนื้อเรื่อง โรงที่ผมดูมีคนเผลอขำกับบุคคลิกและการเล่าเรื่องของเธอบ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นประเด็นอะไรนักเพราะชีวิต คนโขนในเรื่องนี้มีสีสันและน่าติดตามไปตลอด งานนี้เห็นพัฒนาการเล่าเรื่องของคุณตั้ว ทำได้ดีกว่างานหนังเรื่องแรก “อำมหิตพิศวาส” ไปมาก

พลังของการแสดงจากนักแสดงทั้งหมดคือตัวขับเคลื่อนให้เนื้อหาของหนังเดินไปข้างหน้า บทให้ความสำคัญกับนักแสดงในแบบเฉลี่ยๆกันไปเพราะคาแร็กเตอร์เยอะโดยที่มีตัวเอก เ็ป็นแกนของเรื่องบอกเล่าเรื่องราวร้ายและดีที่กระทบกับตัวละครและส่งผลต่อคนรอบๆข้างได้ยังไง

สำหรับนักแสดงรุ่นใหญ่ทั้งสองอย่าง สรพงศ์ ชาตรี และ นิรุตติ์ ศิริจรรยา ในบทเพื่อนรักและคู่แค้น เต็มไปด้วยสีสันและฝากฝีมือการแสดงชั้นครูให้เด็กรุ่นหลังได้ชมกัน ยิ่งเวลาที่ทั้งคู่เข้าฉากพร้อมกันด้วยแล้วสุดยอดมากๆ

ผมชอบฉากที่ทั้งคู่นั่งคุยโต้คารมกันในโรงโขน  Short สั้นๆ Short นี้ำแม้จะดูโดดกับจังหวะที่แทรกเข้าไปในหนัง แบบไม่ค่อยเกี่ยวกับเนื้อหนังเท่าไหร่ หรือทำไมต้องไปนั่งคุยกันในนั้น แต่มันทำให้ผมนึกถึงการโคจรมาพบกันครั้งแรกในฉากร้าน กาแฟ ของ อัล ปาชิโน่ กับ โรเบิรต์ เดอนีโร ในหนังเรื่อง Heat ยังไงยั้งงั้นเลยครับ ฉากนี้ตรึงใจมาก ชอบ!

ส่วนรุ่นเล็กลงมาที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยกับบท เมียครูหยด ของ กบ พิมลรัตน์ พิศลยบุตร เด่นมากเช่นกันโดยเฉพาะการแสดงออกทางแววตา กับหลายๆฉากที่หวังจะเคลมลูกศิษย์ ให้ได้ จริงๆผมเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไหมเธอต้องการตัวลูกศิษย์นักหนาจริงๆ สำหรับรุ่นใหญ่ฝ่ายหญิงอีกคนอย่าง เพ็ญพักตร์ ศิริกุล ก็แสดงได้มาตรฐานครับ สมเป็นรุ่นใหญ่ บทอาจจะน้อยไปหน่อยทำให้ไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงนัก

สำหรับดาราใหม่ๆที่ดึงตัวมาจากวงการโขน และนาฎศิลป์ไทย อย่างพระเอก ชาด (อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ) บทเด็กบ้านนอกซื่อๆจริงใจ ดูเหมาะสมกับหน้าตาบุคลิกของเค้าดี จริงๆบทส่งให้มากและการแสดงของเค้าก็ดูเป็นธรรมชาติ แต่เพราะชั่วโมงบินยังน้อย ทุกครั้งที่เข้าฉากกับดารารุ่นใหญ่ พี่ ป้า น้า อาทั้งหลาย ดูจะถูกกลืนหายไปด้วยพลังดาราหมด และเ้ป็นแบบนี้กับดาราใหม่แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ตือ (กองทุน พงษ์พัฒนะ) และ แรม (นันทรัตน์ ชาวราษฎร์) ทั้งสามคน บวกกับ เพราะต้องเฉลี่ยบทให้กับ ความพยายามที่จะทำให้เราอินกับในความสัมพันธ์แบบ 3 เศร้าแต่ก็เป็นไปด้วยความผิวเผิน ทำให้บท ตือ ดูจะเป็นจุดอ่อนที่สุดของหนังก็ว่าได้ เพราะไม่สามารถทำให้เราอินในชะตากรรมของเค้า จึงขาดแรงส่งแบบแรงๆพอจะทำให้เราสงสารและเห็นใจในชะตากรรมอันเป็น บทสรุปความสัมพันธ์ของทั้ง3 คนได้

ถ้าจะนับดาราหน้าใหม่ทั้งหมด ที่เรียกว่าบทส่งให้มีสีสันจัดจ้านกว่าใคร ต้องยกให้ คม (ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) เค้าทำให้พระเอกดูเป็นเด็กเซื่องๆ ข่มกันเห็นๆในทุกฉากที่แสดงร่วมกัน เรียกว่ามีรังสีอำมหิตทุกครั้งที่ปรากฎ ดูได้จากเวลาเข้าฉากร่วมกันกับรุ่นใหญ่ๆอย่าง นิรุตติ์ ที่ไม่ถูกรัศมีดารากลบหมด ถ้าเข้าวงการแบบเต็มตัวเราคงจะได้เห็นพัฒนาการจากขจรพงศ์ อีกแน่ๆ

ตัวหนัง พยายามผสานเรื่องราวของคนโขนที่มี ผิดชอบชั่วดีปนเปไป ล้วนแล้วเป็นไปด้วยผลแห่งกฎแห่งกรรม ดั่งคำโบราณท่านว่าไว้ ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ยังใช้ได้ดีกับหนังเรื่องนี้มนุษย์ถึงแม้จะสูงส่งชื่อเสียงล้นฟ้าหรือต่ำ เตี้ยติดดินแค่ไหน ก็หาได้พ้นจากกฎแห่งกรรมที่ตนได้กระทำไว้ไม่

ส่วนของการดำเนินเรื่องที่พยายามสอดแทรกเนื้อหาของโขนไทยให้เด็กรุ่นเกาหลีครองเมืองยุคนี้ได้เข้าใจ อาจจะดูทื้อๆแต่ก็ชัดเจนไม่เสียเวลาดี บอกกันตรงๆในหลายฉากผ่านปากของตัวละครให้คนดูเข้าใจไปพร้อมๆกัน ไม่งั้นเด็กไทยอาจจะงงกับเนื้อหาของเรื่องรามเกียรติ์  ที่มีการเล่าเรื่องในลักษณะโครง กาพย์ กลอน ที่สำคัญการเลือกเรื่องของรามเกียรติ์ของทั้งครูหยดและครูเศก ในการแข่งประชันโขนกัน ก็ดูเป็นนัยสำคัญในแง่การเปรียบเปรย ของบุคลิกความเป็นคนครู ของทั้งคู่ได้ดี แต่เพราะไม่ได้เน้น ย้ำให้สำคัญจึงเป็นเพียงประเด็นที่แล้วแต่ใครจะหยิบมาคิดหรือไม่

งานบทเรื่องนี้แม้จะมีจุดที่ขาดเกินไปบ้าง เพราะการต้องแบก คาแร็กเตอร์ไว้เยอะ และยังต้องเล่าทุกเรื่องที่ผูกปมเอาไว้ ให้คนดูเชื่อในความเป็นไปของตัวละครทั้งหมดไปพร้อมๆกัน จริงๆถ้าตัดการให้ความสำคัญของบทตัวละครบางตัวลงบ้างก็น่าจะกลมกล่อมกว่านี้ อ่อที่สำคัญ ครึ่งหลังของหนังตึงมากๆครับไม่มีช่วงผ่อนเท่าไหร่ โชคดีที่มีฉากบอกรักของพระเอกกับนางเอกเองที่น่าจะเป็นช่วงหวานที่สุดของหนัง ช่วยให้คนดูได้ผ่อนคลายลงบ้าง เป็นการเบรคเบาๆให้หนังพอมีช่องให้หายใจหายคอออกบ้างของผู้ชม งานProduction และ เครื่องแต่งกายเนียบมากไม่มีหลุดให้จับผิดได้ เก็บรายละเอียด ต่างๆครบถ้วนใ ห้บรรยากาศย้อนกลับไปในอดีต

ฉากการแสดงโขนในหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมคิดถึงสมัยเด็กๆ ที่แม่จูงมือไปดูโขนเล่นที่ศาลาเฉลิมกรุง ภาพเก่าๆเหมือนกลับเข้ามาในหัวอีกครั้ง ดีใจมากๆที่วันนี้มีโอกาสได้ชมหนังไทยที่ทุ่มแรงกายใจเพื่อทำให้ ความงดงามของนาฎศิลป์ให้กลับมาให้เยาวชน และคนไทยได้เสพกันอีกครั้งโดยไม่ต้องเดินเข้าไปชมในโรงละคร ที่คงจำกัดไว้ในวงแคบๆเท่านั้น ถือเป็นอีกครั้งที่ ผมอยากให้ทุกๆคนที่เป็นคนไทยและยังโหยหาความเป็นรากเหง้าแท้ๆที่บรรพบุรษของ เราได้สร้างสรรค์งานศิลปะระดับโลกอย่างโขน หรือนาฎศิลป์พื้นบ้านอย่างลิเก ให้กลับมาทีชีวิตและลมหายใจได้อีกครั้ง

และพี่ตั้วครับ ขอคาราวะกับความตั้งใจและมุ่งมั่นกับการทำให้เกิดภาพยนต์เรื่องนี้ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ถ้าคุณเป็นคนไทยครับ


Comments

Popular posts from this blog

รีวิวหนัง Homestay

รีวิวหนัง : เพื่อนฉัน ฝันสลาย Sad Beauty

รีวิวหนัง : ป๊าด 888 แรงทะลุนรก