รีวิวหนัง สยามสแควร์

1. สำหรับเด็กมัธยมโรงเรียนรัฐฯฝั่งธน พ่อแม่ไม่ได้มีเงินให้ไปเรียนพิเศษ ทำให้เราไม่อินกับเรื่องราวของหนังที่ว่าด้วยกลุ่มเพื่อนไปเรียนกวดวิชาแล้วเจอผี อีกอย่างคำว่าสยามของเรานั้น กลับเป็นภาพพื้นที่ที่มี “แบรนด์” ในตัวเองสูง กล่าวคือเรามองว่าการไปสยามเป็นเหมือนการยกฐานะของตัวเองอยู่เหมือนกัน จากทุกทีจะเดินเล่นหลังเลิกเรียนแค่ “เซนปิ่น” แต่พอได้โอกาสไป “สยาม” เราก็จะมองว่ามันหรูอีกขั้นนึงทีเดียว นั่นเองการไปเดินเล่นมองสาวโรงเรียนเอกชนเสื้อแขนยาว หมวยๆ ขาวๆ ดั่งนางฟ้า ที่สยาม จึงเป็นภาพตรึงใจสำหรับนักเรียนชายล้วนโรงเรียนรัฐอย่างเรามาก สยามจึงมีหน้าที่แค่ให้ตัวตนวัยเด็กของเราตอนนั้นกระชุ่มกระชวยเฉยๆ และแน่นอนถ้าในหนังจะให้เลือกว่าใครจะทำให้ตัวเราในวัยเด็กกระชุ่มกระชวยก็คือน้องเฟิร์นในเรื่องเท่านั้น รีวิวหนังใหม่

2. เมื่อหนังเลือกเฉพาะเจาะจงขอบเขตพื้นที่สยามให้เป็นเรื่องเล่าผี ในโรงเรียนกวดวิชา หนังก็เลยไม่ได้มีสยามอะไรร่วมกับเราเลย หรือกล่าวได้ว่า นี่คือสยาม คนละสยาม กับที่เรามีอารมณ์ร่วม และยิ่งหนังเลือกมุมมองสยามให้ดูน่ากลัวมีมนต์ขลัง เซ็ทฉากโรงเรียนซอมซ่อดูน่ากลัว ทั้งๆที่ขัดแย้งกับฐานะที่เราให้ค่าเกินจริงกับสยามและนักเรียนกวดวิชาที่สยาม ก็ยิ่งทำให้เราไม่มีอารมณ์ร่วมไปกับมัน แถมหนังก็ไม่ได้พาเราไปซึมซับอารมณ์บรรยากาศของสยามในสายตาของมุมองเพื่อนเหล่านี้ได้ ดังนั้นบรรยากาศเพื่อนหรืออารมณ์ทุกอย่างไม่ได้ทำหน้าที่ใดๆ ที่จะทำให้เราอินได้เลย

3. สิ่งที่เราพอจะทำให้เรารู้สึกรับรู้สัมผัสกับสยามแห่งนี้ได้เทียบเท่ากับคนทำก็คือ การมองในเชิงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัย นั่นเป็นประเด็นสำคัญที่หนังพยายามจะย้อนเอาตำนานเรื่องเล่าของเด็กหายไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ย้อนกลับมา เพื่อทำให้เห็นสยามที่ปรับเปลี่ยนไปทีละเล็กละน้อย หรือการมีอยู่ของสยามเมื่อนานมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ยังคุกรุ่นอยู่ของคนแต่ละรุ่นที่สามารถแชร์ความทรงจำสยามในแบบฉบับของตัวเองได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม ซึ่งนั่นเท่ากับว่าสยามมันเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ร่วมทางความทรงจำของคนได้เหมือนกัน ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม

4.ประเด็นต่อมาหนังพยายามใช้พลังของเรื่องเล่านำเรื่องอยู่ตลอดไม่ว่าจะฉากแรกที่เริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าของเด็กสาวเดินหลงทางอยู่ในสยาม เรื่องเล่าของเด็กสาวที่หายไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และเรื่องเล่าของกลุ่มเพื่อนที่พยายามจะเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อสัปดาห์แล้ว จนกระทั่งเรื่องเล่าของนิดตัวละครลับสำคัญของเรื่อง การเป็นเรื่องเล่า คือสิ่งที่เป็นมุขปาฐะแบบหนึ่งต่อๆกันมา ซึ่งการเล่าต่อกันมา มันจะตัดผ่านเวลาทันที หมายถึงว่า ต่อให้เรื่องเล่ามันเกิดมานานเท่าไหร่ แต่ถ้ามันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เราก็จะรับรู้แบบเสียวสันหลังได้ว่า เรื่องเล่านั้นมันยังอยู่ในตอนนี้ ที่คนเล่าและคนฟังบรรจบกันพอดี สิ่งนี้ทำให้หนังสยามสแควร์ใช้พื้นที่แบบนี้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่มีประวัติศาสตร์บางอย่างในพื้นที่สยามแห่งนี้ เราจะสนใจใคร่รู้อย่างมากต่อเรื่องผีในหนัง ต่อให้ไอเรื่องราวความสัมพันธ์ที่หนังปูในตัวละครที่ยัวเยี้ยจนไม่รู้จะโฟกัสที่ใครดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความอยากรู้ว่าหนังจะเฉลยอย่างไรจึงสำคัญมากๆ ว่าผี มันเป็นมาอย่างไร

5. พอเมื่อหนังเฉลยแล้ว กลับมาย้อนดู ดั่งที่เขียนไว้ในพื้นที่ร่วมในหลายข้อข้างบนยิ่งเด่นชัด คนสร้างอ่อนด้อยในการทำตัวละครมากมายเหล่านี้ให้เราหลงรัก แต่คนสร้างกลับพยายามหาวิธีเชื่อมโยงพื้นสยามในเชิงประวัติศาสตร์ให้พยายามบรรจบกัน พยายามทำให้อดีตและปัจจุบันมีกลิ่นกายของกันและกันอยู่ ถึงแม้ว่าจะพยายามกลบบาดแผลของตัวจักรวาลเส้นเรื่อง การขี้โกงโดยการใช้ตัวละครหนุ่มแว่นชื่อ “นิวตัน” มาเป็นตัวฉลาดของกลุ่ม

6. เรื่องการทำให้อดีตและปัจจุบันหลอมรวมกันอยู่ มันเกิดอย่างรู้สึกประหลาดตั้งแต่ในเปิดตัวเริ่มต้นแบบไม่มีที่มาที่ไป โดยการเริ่มต้นเรื่องประหลาดที่มีหญิงสาวประหลาด(ผี)เล่าเรื่องเด็กสาวเดินหลงทาง ก่อนที่จะย้อนไปเริ่มเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า แล้วก็มีการตัดสลับซีนประหลาดแบบดูงงๆ กับเวลา ด้วยความที่ตัวละครมันเยอะแยะ ต้องเล่าหลายเหตุการณ์ไปด้วยกัน จนงงว่าไทม์ไลน์ที่มันเป็นอยู่ มันอยู่จุดใดของเวลา แล้วก็มีเรื่องของนิดเข้ามา เรื่องเล่าของข่าวเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จนหนังสร้างภวังค์เวลาแปลก ซึ่งในที่สุดแล้วเมื่อจุดเฉลยหนังพยายามเชื่อมจุดเหล่านี้ให้ร้อยต่อกัน ก็ทำให้เห็นถึงความเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มอบให้กับสยามแห่งนี้เหมือนกัน

7. เขียนมาถึงจุดนี้แล้วจะบอกว่าการที่หนังเล่นเฉลยแบบนี้ถึงแม้จะมีบาดแผลเต็มไปหมด แต่มันก็รับใช้หน้าที่บางอย่างทั้งประเด็นพื้นที่ร่วมของสยาม และธีมของเรื่อง ที่หนังพยายามพูดเรื่อง “การเป็นแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น”ได้ และผีก็ยังเป็นตัวตนอีกแบบของด้านมืดในใจเราที่เราไม่สามารถเป็นตัวเองในแบบที่เราอยากเป็นได้ แต่เราต้องเป็นในแบบที่คนอื่นใส่ร้ายเล่นงานเรา เพื่อแสดงภาพประชดประชนต่อคนอื่น หรือถูกสร้างมาจากเรื่องเล่าของคนอื่นต่อๆ กันจนกลายเป็นความจริง เป็นตัวเป็นตนของผู้พูดที่พูดกันมากๆ เข้า แล้วเราก็ไปเล่นตามเกมพวกแม่ง จนลืมไปหมดแล้วว่าเราเป็นคนแบบไหน มีตัวตนยังไง ดังนั้นภาพของผี ในหนังเรื่องนี้ จึงเป็นด้านร้ายที่สุดของการที่เรายอมให้คนอื่นตัดสินต่อเราได้ ต่อความคิดเราได้ และเราก็เล่นบทบาทแบบนั้นไปอย่างร้ายกาจ ซึ่งมันกลายเป็นสิ่งน่าเศร้าและตลกร้ายอย่างมากถ้าคิดในแง่มุมของวัยรุ่นคนหนึ่ง

8.นอกจากนี้เมื่อหนังเฉลยแล้ว กลับกลายเป็นตัวละครสำคัญที่สุด หรือเด่นที่สุดจึงไม่ใช่ใครทั้งหมดที่หนังพยายามจะปูเรื่องมาเกือบค่อนเรื่อง แต่มันอยู่ที่เรื่องราวของตัวละครผี ที่เป็นภาพของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ไม่รู้จักตัวเอง ยอมให้คำพูดคนอื่นมีอิทธิพลของเรา รวมถึงภาพอุปมาของผีสาวที่เดินหลงทางอยู่ที่สยาม จึงกลายเป็นภาพของวัยรุ่นที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ซึ่งมันถูกนำไปใช้สอดแทรกกับตัวละครเฟิร์นที่ถูกแม่บังคับให้เล่นเปียโนแต่เด็ก และตัวเธอก็ไร้ค่าเมื่อถูกแม่พูดกระแทกใจดำบางอย่างใส่เข้า รวมถึงภาพของการอย่าตัดสินคนจากการมองเพียงผิวเผิน ซึ่งแน่นอนหนังพูดประเด็นนี้ผ่านตัวละคร เมย์ เติร์ก ปอนด์ ก่อนที่จะมาคลี่คลายผ่านตัวละครผี ที่ทำให้ตัวละคร เมย์ ได้เข้าใจ แก้ไขก่อนจะเป็นภาพวนลูปชะตากรรมอันซ้ำซากต่อเรื่องโศกนาฎกรรมของเด็กสาวที่ยังไม่ค้นพบตัวเอง

นั่นเองหนังเรื่องสยามสแควร์จึงเป็นเรื่องของหญิงสาวผู้ยังค้นหาตัวเองไม่เจอและยังให้น้ำหนักคำพูดของคนอื่นมาอิทธิพลกับตัวเองจนกลายเป็นผีร้ายทั้งในทางรูปธรรมและอุปมาอุปมัย และเรื่องราวของการเชื่อมต่อประวัติศาสตร์พื้นที่ของสยามสแควร์ จากอดีตถึงปัจจุบัน

Comments

Popular posts from this blog

รีวิวหนัง Homestay

รีวิวหนัง : เพื่อนฉัน ฝันสลาย Sad Beauty

รีวิวหนัง : ป๊าด 888 แรงทะลุนรก